ลำดับแรกที่สำคัญสุดเมื่อเกิดเหตุรถชนหรือเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์คือ คุณควรมีสติให้มั่น และตรวจสอบบุคคลรอบข้างว่ามีใครได้รับบาดเจ็บหรือไม่ เพื่อรีบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บให้ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด และลำดับต่อไปควรปฏิบัติตามขึ้นตอนด้านล่างดังต่อไปนี้
เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ควรปฏิบัติตามขั้นตอน ต่อไปนี้
การแจ้งเกิดอุบัติเหตุ
- กรณีเป็นสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกัน (Knock for Knock) ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามสัญญาของ Knock for Knock (ก็คือสัญญาที่บริษัทของผู้เอาประกันแต่ละฝ่าย จะรับผิดชอบในความเสียหายของรถยนต์ที่ตนรับประกันภัยไว้ ภายใต้จำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นความประมาทของฝ่ายใด การสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกัน )
สัญญาสละสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกัน (Knock for Knock)
1 ) ต้องเป็นการประกันภัยรถยนต์สี่ล้อประเภท 1 เท่านั้น (ไม่ว่าจะเป็นรถเก๋งหรือรถบรรทุก)
2 ) ตรวจดูรายละเอียดใบเหลืองว่าตรงกับรถคู่กรณีหรือไม่ และหมดอายุหรือไม่
3 ) สามารถขอรับเอกสารใบเหลืองใหม่ได้จากบริษัทประกันภัย
โดยปฏิบัติดังต่อไปนี้
1 ) กรอกข้อความรายละเอียดต่าง ๆ ลงในเอกสาร "KNOCK FOR KNOCK" ให้ครบถ้วน
2 ) ให้ผู้ขับขี่ทั้งสองฝ่าย ลงลายมือชื่อในเอกสารแล้วจึงแลกเปลี่ยนกับเอกสารของคู่กรณี
3 ) แยกย้ายจากที่เกิดเหตุได้ทันที
4 ) นำเอกสารที่ได้จากคู่กรณี มาติดต่อบริษัทฯ เพื่อดำเนินการแจ้งเหตุและจัดซ่อมต่อไป
กรณีตกลงกันไม่ได้ว่า ใครเป็นฝ่ายผิดใครเป็นฝ่ายถูกให้ดำเนินการดังนี้
1 ) ติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อทำเครื่องหมาย ณ ที่เกิดเหตุแล้วเคลื่อนรถออกจากที่เกิดเหตุ
2 ) แจ้งบริษัทประกันโดยทันที
หากรถคู่กรณีไม่มีประกัน หรือมีประกันภัยประเภทอื่น ที่มิใช่ประเภท 1 ให้ออกเอกสาร "ใบยินยอมรับผิด" ให้คู่กรณีโดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้
หากท่านเป็นฝ่ายผิด
1) ให้ท่านกรอกรายละเอียดลงในใบยินยอมรับผิดและลงชื่อท่าน
2 ) กรอกรายละเอียดของคู่กรณีแจ้งรายละเอียดความเสียหายและให้คู่กรณีลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน
3 ) ฉีกตัวจริงให้คู่กรณีเพื่อมาติดต่อบริษัทประกันต่อไป
หากท่านเป็นฝ่ายถูก
1 )ให้คู่กรณีกรอกรายละเอียด หรือท่านกรอกเอง
2 )ลงชื่อทั้งคู่ไว้เป็นหลักฐาน โดยฉีกสำเนาให้คู่กรณี และเก็บตัวจริงไว้เพื่อติดต่อบริษัทประกันต่อไป
3 )หากท่านมีข้อสงสัย โปรดติดต่อบริษัทประกันที่ท่านได้ซื้อไว้
- กรณีเกิดอุบัติเหตุให้แจ้งศูนย์รับแจ้งเหตุของบริษัทประกันภัยทันทีที่เกิดเหตุ ซึ่งไม่ว่าจะมีคู่กรณีหรือไม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- ข้อมูล ที่ควรเตรียมไว้แจ้งอุบัติเหตุ ได้แก่ ชื่อผู้ขับขี่ ทะเบียนรถ ยี่ห้อ รุ่น สี เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ลักษณะการเกิดเหตุ สถานที่เกิดเหตุและจุดสังเกต (กรณีมีการเคลื่อนย้ายรถหรือสถานที่นัดหมายให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที)
- ควรสอบถามชื่อผู้รับแจ้งอุบัติเหตุและชื่อเจ้าหน้าที่สำรวจอุบัติเหตุ
ณ จุดเกิดอุบัติเหตุ
- ห้าม แยกรถออกจากกันโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจขีดเส้น หรือจนกว่าเจ้าหน้าที่บริษัทประกันภัยจะไปถึงที่เกิดเหตุ (หากเป็นสัญญา Knock for Knock ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนสัญญา Knock for Knock) ได้เลย
- ห้ามตกลงค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น และอย่ายอมรับผิด หากไม่แน่ใจว่าฝ่ายใดผิด ให้รอจนกว่าพนักงานจะไปถึงที่เกิดเหตุ
- หากว่าคู่กรณีแสดงอาการพิรุธหรืออาจจะหนี ให้รีบจดรายละเอียดผู้ขับขี่รถคู่กรณี เช่น ชื่อ ที่อยู่ ที่ทำงาน โทรศัพท์ และรายละเอียดรถคู่กรณี เช่น ความเสียหาย ยี่ห้อ สี ทะเบียน ไว้ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานจะไปถึงที่เกิดเหตุ
- กรณีที่เฉี่ยวชนแล้วหลบหนี ให้รีบจดรายละเอียดรถคู่กรณี เช่น ความเสียหาย ยี่ห้อ สี ทะเบียน ให้ละเอียดที่สุด แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- กรณีเฉี่ยวชนหลายคัน หากรถคู่กรณีคันใดขอแยกย้ายไปก่อนให้จดรายละเอียดผู้ขับขี่ และรถคู่กรณีรวมทั้งหมายเลขโทรศัพท์
- กรณี รถตกลงไปในน้ำ และไม่สะดวกในการติดต่อบ.ประกันภัย ให้นำรถขึ้นจากน้ำโดยเร็วที่สุด และห้ามสตาร์ทเครื่องเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื่องมากขึ้น
กรณีเป็นฝ่ายถูก
- ควรให้คู่กรณียอมรับผิดโดยการลงชื่อในใบคำขอยอมรับผิดเสียก่อน แล้วจึงเคลื่อนย้ายรถออกจากที่เกิดเหตุเพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจร
- ควรจดทะเบียนรถคู่กรณี ชื่อ ที่อยู่ โทรศัพท์ ของผู้ขับขี่ และเจ้าของรถยนต์ในกรณี ที่เจ้าของรถยนต์ไม่ได้เป็นผู้ขับขี่เอง
- ควรจดชื่อ ที่อยู่ โทรศัพท์ ของพยานในที่เกิดเหตุ (ถ้ามี)
- แจ้งบริษัทประกันภัยเพื่อทำการสำรวจอุบัติเหตุและสภาพความเสียหาย
- หากเป็นการประกันชั้น 3 (คุ้มครองเฉพาะความเสียหายต่อบุคคลภายนอก) บริษัทประกันภัยจะส่งเจ้าหน้าที่ไปสถานที่เกิดเหตุหรือสถานีตำรวจ (หากมีความจำเป็น)
กรณีเป็นฝ่ายผิด
- ให้เขียนชื่อ ที่อยู่ โทรศัพท์ ให้แก่คู่กรณี
- เคลื่อนย้ายรถออกจากที่เกิดเหตุเพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจร
- แจ้งบริษัทประกันภัยทันทีเพื่อทำการสำรวจอุบัติเหตุและสภาพความเสียหาย
กรณีไม่แน่ใจว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิด
- แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่เกิดอุบัติเหตุ
- รอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบและทำเครื่องหมายบริเวณอุบัติเหตุ แล้วเคลื่อนย้ายรถออกจากที่เกิดเหตุเพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจร
- ไม่ควรลงชื่อในเอกสารใด ๆ กับคู่กรณี
- แจ้งบริษัทประกันภัยทันทีเพื่อทำการสำรวจอุบัติเหตุและสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น
กรณีคู่กรณีได้รับบาดเจ็บ
- ให้นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลโดยด่วนจากนั้นแจ้งบริษัทประกันภัยทันที
- แสดงหลักฐานให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทราบว่ามีประกัน พ.ร.บ.
- อย่าตกลงค่าเสียหายกับคู่กรณี โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันภัย
- แสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีที่เรื่องถึงสถานีตำรวจ
กรณีคู่กรณีเสียชีวิต
- ติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและแจ้งบริษัทประกันภัยทันที
- ท่านต้องรับผิดทางอาญา ส่วนทางแพ่งบริษัทประกันภัยจะเข้าร่วมเจรจาและให้คำปรึกษา พร้อมทั้งต้องรับผิดชอบค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์
- ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่บริษัทประกันภัยในการตกลงค่าเสียหายกับคู่กรณี
กรณีถูกชนแล้วคู่กรณีหนี
- ให้จดจำทะเบียน ยี่ห้อ รุ่น สี และแจ้งสถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ
กรณีเกิดอุบัติเหตุและเสียหายไม่มาก และไม่มีโทรศัพท์ติดต่อ
- กรณี เป็นฝ่ายถูก ให้คู่กรณีกรอกรายละเอียดและเซ็นเอกสาร “ใบยินยอมรับผิด” จากนั้นเคลื่อนย้ายรถเพื่อหาโทรศัพท์ติดต่อบริษัทประกันภัยหรือหากต้องการตกลงค่าเสียหาย จะต้องแจ้งให้บริษัทประกันภัยทราบก่อน
- กรณีคู่กรณีไม่มีบัตรประจำตัวหรือหลักฐานใด ๆ ให้ติดต่อบริษัทประกันภัยหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- กรณีที่เป็นฝ่ายผิดและคู่กรณียินยอมแลกรายละเอียดซึ่งกันและกัน เช่น ชื่อ ที่อยู่ ที่ทำงาน โทรศัพท์ รวมทั้งรายละเอียดรถสองฝ่าย เช่น ยี่ห้อ สี ทะเบียน ความเสียหาย แล้วนัดพบภายหลัง พร้อมทั้งแจ้งให้บริษัทประกันภัยให้ทราบ แต่ถ้าคู่กรณีไม่ยินยอมต้องติดต่อบริษัทประกันภัย
- กรณีตกลงกันไม่ได้ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิด ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อทำเครื่องหมาย แล้วเคลื่อนย้ายรถออกจากที่เกิดเหตุ หรือแจ้งบริษัทประกันภัยเพื่อทำการสำรวจอุบัติเหตุและสภาพความเสียหาย
ข้อกฎหมายที่ควรทราบเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
- กรณีที่ท่านเป็นฝ่ายผิดท่านต้องรับผิดทางอาญา ส่วนทางแพ่งบริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์
- หากว่าท่านถูกควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจ และได้ซื้อความคุ้มครองประกันตัวผู้ขับขี่ โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่บริษัทประกันภัยเพื่อนำหลักทรัพย์มาขอประกันตัวตามวงเงินที่ได้ซื้อความคุ้มครอง
- หากเกิดอุบัติเหตุแล้วหลบหนี ตามกฎหมายจะสันนิษฐานว่าท่านเป็นฝ่ายผิด
- พนักงานสอบสวนไม่มีสิทธิ์ควบคุมตัวท่านไว้ หากไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือตายในอุบัติเหตุ
ในปัจจุบันคนไทยมีความรู้ในเรื่องประกันภัยกันน้อยมาก เพราะคิดว่าเสียเงินโดยสูญเปล่าและคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำ อีกทั้งยังมีความรู้สึกในแง่ลบต่อธุรกิจประกันภัย แต่หากเราลองศึกษาการประกันภัยจริงๆ ก็จะพบว่าเป็นการลงทุนที่น่าสนใจอีกช่องทางหนึ่งและเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในวันที่คุณไม่คาดคิดมาถึง ดังนั้นเราต้องศึกษาให้ดีทั้งในเรื่องตัวแทน บริษัท ประวัติ ภัย ค่าสินไหม ระยะเวลา และอีกหลายอย่างเป็นต้น เพื่อผลประโยชน์ของตัวเราเองและคนที่คุณรัก
วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556
เมื่อเกิดประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ควรทำอย่างไรดี ?
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น