วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การประกันชีวิต มีกี่ประเภท? กี่แบบ? พร้อมหลักฐานที่ต้องเตรียมเมื่อเกิดเหตุตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญากรมธรรม์

     
      การประกันชีวิต  
คือวิธีการที่บุคคลกลุ่มหนึ่งร่วมกันเฉลี่ยภัยอันเนื่องจากการตาย การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และการสูญเสียรายได้ในยามชรา โดยที่เมื่อบุคคลใดต้องประสบกับภัยเหล่านั้น ก็ได้รับเงินเฉลี่ยช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัว โดยบริษัทประกันชีวิตจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการนำเงินก้อนดังกล่าวไปจ่ายให้แก่ผู้ได้รับภัย

 สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ
     1.    ประเภทอุตสาหกรรม เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยค่อนข้างต่ำประมาณ 10,000 - 30,000 บาท ซึ่งเหมาะสำหรับผู้กับที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ การชำระเบี้ยประกันภัยนั้นจะเริ่มชำระเป็นรายเดือน และไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสุขภาพ ฉะนั้นจึงมีระยะเวลารอคอย (ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตด้วยโรคภัยตามธรรมชาติ บริษัทก็จะไม่จ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้ แต่จะคืนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยได้ชำระมาแล้วทั้งหมดนั่นเอง)
     2. ประเภทสามัญ เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยค่อนข้างสูง ประมาณ50,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้หรือฐานะปานกลางขึ้นไป ในการพิจารณารับประกันชีวิตประเภทนี้นั้นอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจสุขภาพ ขึ้นอยู่กับการพิจรณารับประกันของบริษัท โดยทั่วไปแล้วจะมีการชำระเบี้ยประกันภัยในรูปแบบ เป็นรายเดือน ราย 3 เดือน ราย 6 เดือน รายปี ก็ได้
     3. ประเภทกลุ่ม เป็นการประกันชีวิตที่กรมธรรม์หนึ่งนั้นจะมีผู้เอาประกันชีวิตร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ในการพิจารณารับประกันอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจก็ได้ ขึ้นอยู่กับการรับพิจรณาของบริษัทประกันภัยนั้นๆ การประกันชีวิตประเภทกลุ่มจะมีอัตราเบี้ยประกันชีวิตจะต่ำกว่าประเภทสามัญและประเภทอุตสาหกรรม

การประกันชีวิตมีทั้งหมด 4 แบบได้แก่
     1. แบบสะสมทรัพย์ คือการประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันภัย ให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาประกันภัย การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นส่วนผสมของการคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ ส่วนของการออมทรัพย์ คือส่วนที่ผู้เอาประกันภัยได้รับคืนเมื่อสัญญาครบกำหนด
     2. แบบตลอดชีพ ก็คือคุ้มครองผู้เอาประกันตลอดชีวิต ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตเมื่อใดในขณะที่อยู่ในช่วงเวลาของกรมธรรม์ บริษัทประกันก็จะต้องจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัย ให้แก่ผู้รับประโยชน์ที่ได้มีระบุชื่อไว้ในกรมธรรม์  โดยวัตถุประสงค์เบื้องต้นของการประกันภัยแบบนี้ทำขึ้นเพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับช่วยเหลือบุคคลที่อยู่ในความอุปการะเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต หรือเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการเจ็บป่วยครั้งสุดท้ายและค่าทำศพ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ตกเป็นภาระของบุคคลอื่น
     3. แบบเงินได้ประจำ คือการที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้เท่ากันอย่างสม่ำเสมอให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกเดือน นับตั้งแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ อาจจะเป็นอายุ 55 หรือ 60 ปีเป็นต้นไป แล้วแต่เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่ได้ระบุไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เอาประกันว่าจะให้จ่ายเป็นระยะเวลานานเท่าไรโดยเลือกซื้อเอาจากกรมธรรม์
     4. แบบชั่วระยะเวลา เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในระยะเวลาประกันภัยเป็นตัวกำหนด วัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร การประกันชีวิตแบบนี้ไม่มีส่วนของการออมทรัพย์ดังนั้นเบี้ยประกันภัยจึงต่ำกว่าแบบอื่น และไม่มีเงินเหลือคืนให้หากผู้เอาประกันภัยอยู่มีชีวิตจนครบกำหนดสัญญากรมธรรม์

กรณีเมื่อเกิดเหตุซึ่งตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญาควรทำดังต่อไปนี้
1.    ติดต่อบริษัทประกันภัยที่เราทำประกันภัยด้วยให้เร็วที่สุด
2.    กรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตนั้นจะแยกเป็นกรณีตามสาเหตุของการเสียชีวิตได้แก่       -  กรณีเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บ (ต้องแจ้งให้ทราบภายใน 14 วัน)
     หลักฐานที่ต้องเตรียมไปด้วยได้แก่
     1 )  ใบมรณบัตรของผู้เอาประกันภัย
     2 )  ใบเสร็จที่ได้รับเงินงวดสุดท้าย
     3 )  บัตรประชาชนของผู้รับประโยชน์
     4 )  กรมธรรม์ประกันชีวิต (ถ้าหายให้แจ้งความแล้วนำสำเนา รายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายไป    
            แสดงแทน)
     5 )  ทะเบียนบ้านของผู้รับประโยชน์

      - กรณีเสียชีวิตโดยการฆ่าตัวตาย     
     หลักฐานที่ต้องเตรียมไปด้วยได้แก่
     1 )  ใบมรณบัตรของผู้เอาประกันภัย
     2 )  ใบเสร็จที่ได้รับเงินงวดสุดท้าย
     3 )  บัตรประชาชนของผู้รับประโยชน์
     4 )  กรมธรรม์ประกันชีวิต (ถ้าหายให้แจ้งความแล้วนำสำเนา รายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายไป
            แสดงแทน)
     5 )  ทะเบียนบ้านของผู้รับประโยชน์
     6 )  ใบชันสูตรพลิกศพ
     7 )  สำเนาบันทึกประจำวันรับแจ้งเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

      -  กรณีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ
     หลักฐานที่ต้องเตรียมไปด้วยได้แก่
     1 )  ใบมรณบัตรของผู้เอาประกันภัย
     2 )  ใบเสร็จที่ได้รับเงินงวดสุดท้าย
     3 )  บัตรประชาชนของผู้รับประโยชน์
     4 )  กรมธรรม์ประกันชีวิต (ถ้าหายให้แจ้งความแล้วนำสำเนา รายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายไป
            แสดงแทน)
     5 )  ทะเบียนบ้านของผู้รับประโยชน์
     6 )  สำเนาบันทึกประจำวันหลังกลับจากสถานที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
     7 )  ใบชันสูตรพลิกศพ
     8 )  สำเนาบันทึกประจำวันรับแจ้งเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

3.   กรณีเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล ทุพพลภาพ และสูญเสียอวัยวะ
      (ต้อง
แจ้งบริษัททราบภายใน 10 วัน)
     หลักฐานที่ต้องเตรียมไปด้วยได้แก่
     1 )  ใบเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของบริษัท
     2 )  ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลที่ระบุวันเริ่มต้น และวันสุดท้ายในการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่
            เข้าทำการรักษา
     3)   ฟิล์มเอ็กซ์ซเรย์ (ถ้ามี)

4.   กรณีกรมธรรม์ครบกำหนด ( ประเภทสะสมทรัพย์ )
     1) ติดต่อบริษัทประกันภัยว่าครบวันกำหนดแล้ว     
     หลักฐานที่ต้องเตรียมไปด้วยได้แก่
     2)   บัตรประชาชนของผู้เอาประกันภัย
     3)   กรมธรรม์ประกันชีวิต
        

การยกเว้นการจ่ายเงินเอาประกันชีวิต
     1)   ผู้เอาประกันฆ่าตัวตายภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มทำสัญญาหรือวันต่ออายุสัญญาครั้งสุดท้าย
     2)   ผู้รับประโยชน์ได้ฆ่าผู้เอาประกันตาย
***จากสาเหตุ 2 ข้อข้างต้นนั้นบริษัทประกันจะไม่จ่ายจำนวนเงินเอาประกันชีวิตให้ แต่ว่าจะต้อง
     คืนเบี้ยประกันชีวิตที่เคยได้ชำระมาแล้วทั้งหมดเท่านั้น


หน้าที่ของผู้เอาประกันต้องชำระเบี้ยประกัน
     หากตัวแทนของบริษัทประกันยังไม่มาดำเนินการเก็บเงินเบี้ยประกันภัยในเวลาที่กำหนดจ่าย ตามกฎหมายจะถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันชีวิตจะต้องไปชำระที่สาขาของบริษัทด้วยตนเอง หรือส่งเป็นธนาณัติ เช็คและเพื่อที่บริษัทจะได้ส่งใบเสร็จรับเงินมาให้อย่างถูกต้อง เพื่อมิให้เสียโอกาสและประโยชน์ที่จะได้รับ ท่านจำเป็นต้องเขียนที่อยู่ของท่านให้ถูกต้อง

ระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกัน (ขึ้นอยู่กับบริษัท)
     ผู้เอาประกันชีวิตมีสิทธิที่จะได้รับการผ่อนผันการชำระเงินได้ โดยการยืดระยะเวลาได้ประมาณ 
30 หรือ 60 วัน


รู้หรือไม่ว่าเบี้ยประกันชีวิตนั้นสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคล
     กล่าวคือผู้เอาประกันชีวิตสามารถนำมาหักภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น