วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อาชีพผู้พิจารณารับประกันภัย (Underwriter) คือใคร มีหน้าที่ทำอะไร?


    ผู้พิจารณารับประกันภัย (Underwriter) ผู้พิจารณารับประกัน ถือเป็นงานประจำอีกแบบหนึ่งในบริษัทประกันนะครับ ทำงานประจำกินเงินเดือนและไม่ได้ค่าคอมมิชชั่นจากการขายเพราะไม่ต้องไปขายประกัน มีสวัสดิการแบบพนักงานบริษัททั่วๆไป บทบาท Underwriter นี้ถือเป็นหน้าที่หลักๆ ในการทำรายได้และกำไรให้กับบริษัท เพราะบริษัทจะมียอดขายเท่าไร ขาดทุนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเลือกสรรความเสี่ยงให้อยู่ในเกณฑ์ที่บริษัทสามารถบริหารจัดการหรือยอมรับได้นั่นเอง

     หน้าที่ของ Underwriter นั้น หลักๆ ก็คือการพิจารณาว่าลูกค้าแต่ละราย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าบุคคล หรือ ลูกค้านิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างร้าน ฯลฯ จะรับประกันให้กับผู้ที่ขอเอาประกันรายนั้นๆ หรือไม่ โดยพิจารณาจากข้อมูลที่อาจจะได้มาจากลูกค้าโดยตรง ตัวแทน บริษัทนายหน้า ฝ่ายการตลาด ฝ่ายประเมินความเสียง หรือบริษัทที่ปรึกษาในการประเมินความเสี่ยง ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ก็ต้องมาพิจารณาต่อว่า อัตราเบี้ยประกัน ความคุ้มครอง ข้อยกเว้น มูลค่าที่จะให้ความคุ้มครอง ค่าความเสียหายส่วนแรก และเงื่อนไขอื่นๆ ในการร่างออกมาเป็นสัญญารับประกัน 
     หน้าที่ต่อมาของ Underwriter ในบางบริษัท หน้าที่ในการติดต่อประสานงาน ดูแลความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ ช่องทางการขาย เช่น ตัวแทน บริษัทนายหน้า ธนาคาร Retail Chains ต่างๆ ก็จะตกเป็นของผู้พิจารณารับประกันด้วย 

     ส่วนหน้าที่รองลงมา ก็จะเกี่ยวข้องกับ การประสานงานเรื่องการรับประกันภัยต่อ (Reinsurance) คือเป็นการถ่ายโอนความเสี่ยง (risk transfer) ที่รับมาให้กับบริษัทอื่นๆ ที่ทำหน้าที่รับประกันภัยต่อ ซึ่งมีความชำนาญ และ ความแข็งแกร่งทางการเงินสูง 

     Underwriter นั้นสามารถแบ่งสายงานได้ออกเป็นสองประเภทตามธุรกิจ คือ Underwriter ของบริษัทประกันภัยและประกันชีวิต ทำหน้าที่พิจารณากรมธรรม์ที่แตกต่างกับ รับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ต้องการข้อมูลที่มาใช้ในการพิจารณาแตกต่างกัน 

     ถ้าเป็น Underwriter ของบริษัทประกันชีวิต ทำหน้าที่พิจารณารับประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ ฯลฯ ก็จะต้องมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับ ศัพท์ทางการแพทย์ ข้อมูลการวินิจฉัยจากแพทย์ มีความเข้าใจในเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ ในกรมธรรม์ ว่าส่วนไหนคุ้มครอง ส่วนไหนยกเว้น คุ้มครองมากเท่าไร จำกัดความรับผิดชอบไว้เท่าไร การทำงานก็จะต้องพึงพาข้อมูล จาก ลูกค้าผู้เอาประกัน ตัวแทน บริษัทนายหน้า ข้อมูลของการตรวจสุขภาพ และ เงื่อนไขที่บริษัทรับประกันภัยต่อกำหนดเอาไว้ โดยมาก underwriter ของบริษัทประกันชีวิต มักจะรับผู้ที่จบการศึกษาเกี่ยวข้องกับทางสาธารณสุขและการแพทย์ เช่น พยาบาล เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุขศาสตร์ ฯลฯ 

     ส่วน Underwriter ของบริษัทประกันภัย จะทำหน้าที่พิจารณาภัยอื่นๆ ทุกชนิดที่ไม่ใช่ ประกันชีวิต เช่น ประกันวินาศภัย เพลิงไหม ระเบิด น้ำท่วม แผ่นดินไหว ดินถล่ม ลมพายุ ขโมย ปล้น ก่อการร้าย อุบัติเหตุ ฯลฯ โดยสิ่งที่จะเอาประกันมักจะเป็นสิ่งของ สามารถเป็นทรัพย์สินหรือหนี้สินของบุคคล และ นิติบุคคลก็ได้ เช่น รถยนต์ บ้านเรือน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ธนาคาร สถาบันการเงิน โรงงาน ท่าเรือ สนามบิน อุโมงค์ รถไฟฟ้า ทางรถไฟ เขื่อน โรงงานไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน ฯลฯ ขึ้นอยู่กับ แผนกที่ไปสังกัดอยู่ว่า พิจารณารับประกันด้านไหน เพราะกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละประเภทมีเงื่อนไขความคุ้มครองที่ต่างกัน ซึ่งแบ่งออกเป็น การรับประกันภัยรถยนต์ (Motor Insurance), อัคคีภัย(Fire Insurance), สรรพภัย (All Risks Insurance), งานก่อสร้าง(Construction All Risks Insurance), เครื่องจักรเสียหาย (Machinery Breakdown Insurance), ประกันการขนส่งสินค้า (Marine Insurance), ประกันความรับผิดทางกฎหมาย (Liability Insurance), ประกันธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance) 

     ความคุ้มครองที่แตกต่างกันเหล่านี้ ย่อมต้องการความรุ้ความสามารถในการพิจารณาความเสี่ยงในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน ต้องการข้อมูลในการประเมินความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต้องต่อ Underwriter ในการพิจารณาว่าจะให้ความคุ้มครองรับประกันหรือไม่ ถ้ารับจะให้ความคุ้มครองเท่าไร คุ้มครองกรณีใด ต้องยกเว้นในกรณีใด และสำคัญที่สุดคือ จะมีอัตราเบี้ยประกันภัยเท่าไร ที่สามารถแข่งขันกันตลาดได้ และ มีเม็ดเงินเพียงพอที่จะนำมาบริหารจัดการให้เกิดผลกำไรจากเบี้ยที่รับมา 

     ถ้าจะให้เปรียบเทียบกับงานในแนวๆ เดียวกัน ก็คงจะเป็น ผู้พิจารณาให้สินเชื่อของธนาคาร ครับ คือรวบรวมข้อมูล ของลูกค้าที่จะขอวงเงินกู้ และ ข้อมูลจากภายในของธนาคารเอง แล้วพิจารณาว่าจะให้สินเชื่อหรือไม่ ถ้าให้ ให้วงเงินเท่าไร มีอัตราดอกเบี้ยเท่าใด เงื่อนไขในการชำระเงินเป็นอย่างไร ฯลฯ การให้สินเชื่อกับธุรกิจที่แตกต่างกันก็ย่อมจะต้องการข้อมูลที่แตกต่างกันเช่นเดียวกับการรับประกัน 

     หากถามว่างานนี้น่าสนใจหรือไม่ก็ต้องลองถามตัวเองดูครับว่าชอบงานประเภทแบบที่ไม่มีแบบแผนหรือว่าชอบงานที่มีกฎเกณฑ์มีแบบแผนแน่นอน ชอบงานที่สามารถทำให้เสร็จได้ด้วยตนเอง หรือ ชอบงานที่ทำงานกันเป็นทีม ชอบติดต่อประสานงานกับคนจากหลายแผนก บางครั้งก็เป็นคนนอกบริษัทหรือไม่ ชอบที่จะต่อรองเพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ชนะกันทั้งสองฝ่ายได้หรือเปล่า 
งานนี้ในอนาคตยังไงก็เป็นที่ต้องการของตลาด เพราะขณะนี้ถือว่า ยังขาดคนที่มีความรุ้ความเชี่ยวชาญอยุ่มาก เพราะคนไทยยังมีอคติกับการทำงานให้กับบริษัทประกัน ทำให้การหาคนมาทำงานนั้นต้องใช้วิธีซื้อตัวจากคนที่เคยทำอยู่แล้ว ซึ่งการซื้อตัวแต่ละครับ เงินเดือนก็ต้องเพิ่มเข้าไปเพื่อเป็นแรงจูงใจ โดยรวมๆ แล้วรายได้ของ Underwriter ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของบริษัทประกันนั้นถือว่าไม่น้อยกว่างานในกับสถาบันการเงินแบบอื่นๆ เช่น ธนาคาร หลักทรัพย์ หรือ กองทุน ต่างๆ ถ้าเป็นพวกที่จบใหม่ เงินเดือนที่ได้ ก็คงไม่ต่างกับงานในสถาบันการเงินเท่าใดนัก ขึ้นอยู่กับบริษัทที่ไปทำว่า เป็นต่างชาติหรือของคนไทยนั่นเอง

     เป็นงานที่ค่อนข้างยาก เพราะต้องการความรู้ในหลายด้าน ทั้งทางด้าน กฎหมาย เกี่ยวกับถ้อยคำสัญญาในกรมธรรม์ ความรุ้ทางด้านการแพทย์ ทางด้านวิศวกรรม สำหรับการประเมินความเสี่ยง ในการพิจารณารับประกัน และต้องเจรจาต่อรองกับคนสองกลุ่มที่มีความต้องการที่ขัดแย้งกัน คือผู้เอาประกันก็ต้องการเบี้ยประกันถูกๆ ความคุ้มครองมากๆ แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทต้องการเบี้ยประกันมากๆ และ ความคุ้มครองน้อยๆ แต่จากการสังเกตพบว่าคนที่มาทำงานเป็น Underwriter นั้น โดยมากไม่ได้เรียนจบมาทางด้านประกันภัยโดยตรงซักเท่าไร มักจะมาเรียนรู้เอาจากการทำงาน การอบรม ทั้งนั้น Background ที่พบนั้นมีหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็น สายศิลป์ บริหาร การเงิน บัญชี นิเทศ อักษร หรือสายวิทย์ คณิตศาสตร์ สถิติ วิศว เทคนิคการแพทย์ พยาบาล ฯลฯ 

     ส่วนเรื่องความกดดันในการทำงานอันนี้คงขึ้นอยู่กับบริษัทที่ไปสังกัดว่า มีนโยบายทางด้านนี้อย่างไร แต่ KPI ที่สำคัญที่สุดของ underwriter คือเรื่อง เบี้ยประกันและอัตราการเคลม ครับ คือ ต้องรับประกันเพื่อให้ได้เม็ดเงินเข้ามาในบริษัทตามเป้าที่ตั้งเอาไว้ ขณะเดียวกันก็ต้อง พิจารณาเลือกสรรแต่ความเสี่ยงที่ดีๆ มีอัตราการเคลมต่ำๆ มีโอกาสในการทำกำไรได้ เพราะถ้ารับภัยเข้ามาโดยไม่มีหลักการ ไม่มีการจัดการความเสี่ยงที่ดี สุดท้ายพอเกิดเหตุเคลมใหญ่ๆ ขึ้น เบื้ยที่สะสมมาทั้งหมดก็จะสูญไปทันทีนั่นเอง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น