วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2556

การเคลม ประกันรถยนต์ (ตอนที่ 3)



     บางที รถเราทำประกันชั้น 1 มา 3 ปีติดต่อกัน ไม่เคยเคลมเลย พนักงานเคลมยังเคยถามเลย พี่จะเคลมรอบคันมั้ย อะไรแบบนี้ ผมเจอหลาย ๆ บริษัท มักพูดเกริ่นแบบนี้  ซึ่งการเคลมลักษณะนี้ เรียกว่า การเคลมแห้ง  แต่ทั้งนี้ การเคลมแห้ง มันก็ต้องดูความเป็นไปได้ กับ ร่องรอยความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยนะครับ ว่ามันสมเหตุสมผลไหม ไม่ใช่ว่า จะเคลมเพื่อหนีค่า excess อย่างเดียว แต่ไม่ดูอะไรเลย

     เช่น รถโดน Taxi เบียดมา ประตูบี้เลย สี เขียว เหลือง ยังติดอยู่ที่ประตูเป็นแถบ แต่คุณไปบอกประกันว่า เบียดประตูบ้าน  มันก็ยากจะเชื่อครับ เพราะร่องรอยมันฟ้องอยู่แล้วว่า มีสี เขียว เหลืองติด นอกจาก ประตูบ้านคุณจะทาสี เหลือง เขียว มันก็อีกเรื่องนึง แต่ผมว่า มันยากนะ สำหรับ การเคลมแล้วมี สีรถคันอื่นติดอยู่ แล้วเราบอกว่า เฉี่ยว ต้นไม้ เสาไฟฟ้า อะไรแบบนี้  จริง ๆ เรื่อง วัน เวลา ส่วนใหญ่ อย่างที่ผมบอกข้างต้น ว่า บางที พนักงานเคลม เขาก็ เป็นผู้บอกให้เราเขียนตามที่เขาบอก

     แต่ผมก็ไม่รู้นะครับ ว่า มันจะมีผลอะไรหรือปล่าว หากไม่แจ้งเป็นระยะเวลานาน ๆ จน ลักษณะรอยแผลมันเปลี่ยน เช่น รถโดนเบียด จนสีหลุด ผ่านไป 2 เดือน สนิมขึ้น แล้วคุณไปเคลม คุณบอกว่า เพิ่งเบียดมาเมื่อวาน มันก็ดูแปลก ๆ ว่า ทำไม สนิมขึ้นได้ขนาดนั้น    
จริง ๆ แล้ว หากเป็นไปได้ ควรรีบแจ้งเคลม จะดีที่สุดครับ หรือ ง่าย ๆ ก็ โทรเข้าไปแจ้งที่บริษัท ประกันเอาไว้ก่อน เพื่อที่เขาจะได้ออกเลขไว้เป็นหลักฐานครับ ว่าเราเกิดเหตุวันนี้ อะไรแบบนี้ 
แต่ จริง ๆ แล้ว ถ้าร่องรอยนั้น มันทิ้งไว้นานได้ เช่น กันชนซึ่งเป็นพลาสติกครูด สีหลุด กรณีนี้ จะทิ้งไป 8 เดือนไปเคลม ก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ

ประกันชั้น 1 นั้น ครอบคลุมแทบจะทุกอย่าง ไม่ว่าคุณจะเป็น ฝ่ายผิด หรือ ไม่ว่าคุณจะเกิดอุบัติเหตุกับ สิ่งอื่น ๆ เช่น ขับรถชนวัว วัวกลิ้งขึ้นหลังคา ก็ต้องเคลมทั้งหมด  ได้แก่
- ขับรถชนเสาไฟฟ้า รถเสียหาย ก็จะเคลมทั้งหมด 
- ขับ ๆ อยู่ โดนหินกระเด็นโดนกระจกหน้าแตก ก็จะเคลมได้
- ยางระเบิด รถพลิกคว่ำ รถเสียหาย ก็จะเคลมทั้งหมด

     ซึ่งจุดนี้ มันต่างจากประกัน ประเภทอื่น ๆ เช่น 2+ 3+ อะไรพวกนี้ 
อย่างโฆษณาที่บอกว่า ประกัน 2+ ซ่อมคู่กรณีด้วย รถประกันด้วย ในวงเงิน 100,000 บาท อะไรแบบนี้  แต่สิ่งที่บางท่านอาจไม่รู้คือ การที่ประกันชั้น 2+ นั้น จะเคลมให้คุณ จะต้องเป็นการเกิดเหตุระหว่าง รถ กับ รถ ครับ ไม่ใช่ รถกับวัสดุอื่น

ดังนั้น หากคุณขับไปชนขอบทาง รถเสียหาย ประกัน 2+ ไม่คุ้มครอง
หากคุณขับไป ยางระเบิด รถเสียหลักพลิกคว่ำ ประกัน 2+ ไม่คุ้มครอง
นี่คือ สิ่งที่มันต่างจากประกันชั้น 1 ครับ

     ส่วน ในการเคลมค่าสินไหมของ ประกันชั้น 1 นั้น อย่างที่ผมบอกว่า แทบทุกอย่าง สามารถเคลมได้ แต่ทั้งนี้ คุณจะต้อง ทราบว่า สาเหตุที่มันเกิดร่องรอย มันเกิดจากอะไร     สมมติ คุณถอยรถไปเบียดเสาไฟฟ้า และไปแจ้งเคลม ก็บอกว่า รถเบียดเสาไฟฟ้า อันนี้ก็เคลมได้ เพราะถือว่า เสาไฟฟ้าเป็นคู่กรณีได้ หรือ ขับไปเบียดฟุตบาท ก็ถือว่า ฟุตบาทเป็นคู่กรณีได้ ในทางกลับกัน หาก คุณไม่สามารถแจ้งให้บริษัทประกันได้ คุณจะต้องโดนเก็บค่า excess 1,000 บาท ต่อ การเคลม 1 กรณีครับ

ตัวอย่างคุณจอดรถไว้ที่ห้าง ปรากฏว่า กลับมา มีใครก็ไม่รู้ ขับมาเบียดรถคุณ และคุณไปแจ้งประกัน ว่า โดนใครไม่รู้เบียด  กรณีนี้ คุณจะโดนเก็บ excess 1,000 บาทครับ แต่ถ้ากรณีเดียวกัน คุณไปโกหกบริษัทประกันว่า คุณไปเบียดประตูบ้านเอง ประกันก็จะไม่เก็บค่า excess คุณนะครับ 

     แต่ทั้งนี้ ถ้าคุณคิดจะโกหกแจ้งบริษัทประกัน ก็อย่าไปโกหกว่า โดนรถไม่ว่าชนิดไหนเฉี่ยวชนนะครับ เพราะ เรื่องจะยาวครับ  คือ อย่าบอกว่า ชนกับรถ ไม่ว่าจะ มอเตอร์ไซด์ หรือ รถยนต์ ดีที่สุดครับ เพราะ หากคุณแจ้งอย่างนั้น คุณต้องบอกทะเบียนคันที่มาชนคุณให้ได้ด้วยครับ ไม่งั้นก็ ไม่ต่างอะไรกับ การแจ้งประกันว่า โดนชนแล้วหนี ก็โดนค่า excess อยู่ดี แถมเสียประวัติอีกต่างหาก

     ประกันชั้น 1 เขาจะมี การเรียกว่า ประวัติดี คือ หาก เราทำประกันไป 1 ปี ไม่มีเคลมเลย 
ในปีต่อ ๆ ไป ทางบริษัท เขาจะมีประมาณ no claim bonus โบนัส ลดเบี้ยให้คุณในปีต่อ ๆ ไปครับ

     ในทางกลับกัน หากคุณมีการเคลมเยอะ เช่น เกิน 200 % ของมูลค่าเบี้ยที่เสีย เช่น เบี้ยปีละ 20,000 แต่เคลมไป 40,000 บาท อะไรแบบนี้  ในปีต่อ ๆ ไป คุณน่าจะโดนเก็บเบี้ยที่สูงขึ้นมาก ทางที่ดี หากมีการเคลมเยอะ ให้เปลี่ยนบริษัทดีกว่าครับ

เรื่อง ซ่อมห้าง กับ ซ่อมอู่
     จริง ๆ สมัยนี้ หลาย ๆ ห้างที่เป็นศูนย์ซ่อมสีตัวถัง ก็จะรับใบเคลมที่เป็น ใบเคลมห้าง และใบเคลมอู่เหมือนกันครับ พูดง่าย ๆ คือ คุณสามารถถือใบเคลมอู่ไปซ่อมห้างได้ หากห้างนั้น เขาแจ้งว่า รับใบเคลมอู่ด้วย    ซึ่งส่วนใหญ่การซ่อมห้างกับซ่อมอู่มันก็ต่างกันตรงการขออนุมัติเปลี่ยนอะไหล่ ซึ่งซ่อมห้าง จะเปลี่ยนอะไหล่ได้ง่ายกว่า ซ่อมอู่     แต่นอกนั้น การโป้ว การเคาะ การพ่นสี มันเหมือนกันทุกอย่างครับ ไม่มีการแยกว่า รถคันนี้ เบี้ยอู่ ใช้สีอีกเกรดนึง อะไรแบบนี้


การเคลม ประกันรถยนต์ (ตอนที่ 2)



ผมทำประกันชั้น 1 เผลอถอยรถไปครูดเสา จึงแจ้งประกันมาเคลมประกัน
เจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องเสียค่า Excess 1000 บาท ตาม คปภ.ใหม่ปี 2552
ผมแย้งไปว่า การถอยมาครูดเสาถือเป็นการชนอย่างหนึ่ง ทำไมต้องเสียค่า Excess
เจ้าหน้าที่ก็อ้างว่า ตาม คปภ.2552-2553 การชนคือชิ้นส่วนต้องบุบ แตก หรือหักเท่านั้น ถึงจะไม่ต้องเสียค่า Excess 1000 บาท หากเป็นแผลเล็กน้อย ไม่แตก ไม่หัก ไม่บุบ ต้องจ่ายค่า Excess 1000 บาท อึ้งไปสิครับโดนพวกนี้มันเล่นคำเข้าให้ เราต้องระวังให้ดีพวกนี้มันทำเป็นรู้กฎหมาย เราต้องรู้ตามทันให้ได้

ตามเงื่อนไข คปภ. ข้อนี้ครับ 
" กรณีรถยนต์ชนกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่รถยนต์ เช่นรั้ว ต้นไม้ สัตว์ ก้อนหิน ที่ทำให้ตัวรถ และหรืออุปกรณ์ได้รับความเสียหาย บุบ แตก ร้าว ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก แต่ต้องสามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงลักษณะการเกิดเหตุ วันเวลา และสถานที่อย่างชัดแจ้ง" 

กรณีเคลมแล้วต้องเสีย 1,000 บาท ต่อครั้ง เช่น 
- หินกระเด็นใส่รถยนต์ ยกเว้นบางกรณีสามารถยืดหยุ่นให้ได้เช่น หินกระเด็นใส่ส่วนกระจกหน้ารถยนต์ 
- ถูกแกล้ง ขีด-ขูด-ทุบ รถ หรือ ถูกสุนัข แมว ข่วนสีรถ เฉี่ยวกิ่งไม้เป็นรอย 
- เหยียบตะปู หนูกัดสายไฟ ต้นไม้ล้มทับ 
- และเหตุอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการชน หรือ คว่ำ ที่ต้องเสีย 1,000 บาท เพราะไม่ใช่เหตุ จากการชน หรือคว่ำ 

ทั้งนี้อย่าอย่าเข้าใจผิดว่าเก็บ 1,000 บาท ต่อชิ้น ที่ถูกประกันจะเก็บ 1,000 บาท ต่ออุบัติเหตุ แต่ละครั้ง 

ตัวอย่าง ที่ 1 
นาย ก. ขับรถอยู่แล้วถูกหินไม่ทราบมาจากทางไหนกระเด็นใส่ ทำให้รถของนาย ก. มีแผล ตั้งแต่ กันชนหน้า หน้ากระจัง ฝากระโปรงหน้า กระจกบังลมหน้า หลังคา และ ฝากระโปรงหลัง รวม 6 แผล เมื่อแจ้งเคลม ประกันก็จะเก็บ ค่าความเสียหายส่วนแรก (excess) ได้แค่ 1,000 บาท ไม่ใช่เรียกเก็บ 6,000 บาท แต่อย่างใด เพราะแผลทั้ง 6 แผล บนรถของนาย ก. เป็นแผลที่เกิดจากเหตุที่มิได้เกิดจากการชน ในเหตุครั้งนั้นเดียว 

ตัวอย่าง ที่ 2 
นาย ก. ขับรถแล้วถูกหินกระเด็นใส่กระจกบังลมหน้าแตก นาย ก. จึงได้ขับรถต่อเพื่อหาปั๊มจอดรถตรวจสอบความเสียหาย ระหว่างขับอยู่ได้ชนกับสุนัขทำให้กันชนหน้า และหน้ากระจังแตก นาย ก. จึงจอดรถข้างทางลงไป ดูความเสียหาย ระหว่างนั้น ได้มีว่าวปลิวมาจากไหนไม่รู้ปลิวมาโดนรถทำให้ ประตูหน้าขวาบุบ หลังคาบุบ เหตุดังกล่าวเมื่อแจ้งเคลม ประกันจะเรียกเก็บ ค่าความเสียหายส่วนแรก เพียง 2,000 บาท แยกเป็น หินกระเด็นใส่ 1,000 และ โดนว่าว 1,000 บาท เนื่องจาก ความเสียหายเกิดจาก 2 เหตุการณ์และไม่เกี่ยวกับการชน แต่สำหรับ แผลที่ชนสุนัขไม่ต้องเสียตัง เพราะเกิดจากการชน 




การเคลม ประกันรถยนต์ (ตอนที่ 1)



     ว่ากันด้วยเรื่องเคลมประกันรถยนต์นะครับหลายคนคงจะเคยเจออะไรแบบนี้ หรือบางคนไม่เคยเจอก็โชคดีไปนะครับ อันนี้จะขอแชร์ประสบการณ์ไปเรื่อยๆนะครับ

     เมื่อโดนรถชนสิ่งที่แรกที่ต้องทำคือ จดทะเบียนรถที่ชนให้ได้ ถ้าไม่อยากเสียเงินค่า excess 1000 บาท "เป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์"(เงื่อนไขกรมธรรม์เนี่ยเป็นเงื่อนไขเดียวกันทุกบริษัทประกันครับ  มาจาก คปภ. )เป็นคำพูดที่บริษัทประกันจะพูดกับคุณเมื่อรถถูกชนแล้วคู่กรณีหนีไปได้

วันหลังถ้ารถเรามีรอย แต่หาคู่กรณีไม่เจอ หรือมันหนีไปให้แจ้งว่าขับไปชน นู้น ชนนี่ เอาไว้ก่อนเลยครับแต่ปีหน้าเบี้ยขึ้นอย่างแน่นอน แต่ถ้าเราหาคู่กรณีที่แสดงได้ว่าเราเป็นฝ่ายถูก เพราะเราถูกชนรถเราจะไม่มีประวัติเป็นฝ่ายผิด นั่นแปลว่าจะได้ลดเบี้ยประกันในปีต่อไป  แจ้งเหตุแบบไม่มีคู่กรณี อย่างไรตามเงื่อนไขก็ต้องโดนค่าปรับ

ผู้ใช้รถในเมืองไทย ส่วนใหญ่ ยังไม่เข้าใจหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองในการทำประกันภัยรถยนต์   แบบว่าเสียเบี้ยประกันไปแล้วหมื่นกว่า ก็ต้องไปเคลมมันทุกปี ต้องเคลมให้ได้เพราะว่าเดี๋ยวไม่คุ้ม  พอบริษัทขึ้นเบี้ยประกัน ก็ด่าบริษัท แล้วก็ย้ายบริษัทไปเรื่อยๆ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เบี้ยประกันทุกวันนี้มันแพงขึ้นเรื่อยๆแบบไม่มีเหตุผล

กฏ Cash Before Cover  เก็บเงินก่อนแล้วค่อยออกกรมธรรม์มาให้
ผู้เอาประกันภัยต้องเก็บใบเสร็จรับเงินไว้เป็นหลักฐาน โดยบริษัทประกันภัยต้องจัดส่งกรมธรรม์ประกันภัยให้ภายใน 15 วัน ใครที่โดนกั๊กไม่ได้กรมธรรม์สักทีให้ไปเอานะครับโดนโกงได้ง่ายๆ

 เรื่องชนไม่มีคู่กรณี ถ้าแจ้งความก็เป็นฝ่ายถูก ได้ส่วนลดประวัติดีในปีถัดไป แต่ถ้าขี้เกียจไปแจ้งความก็เสียค่า Excess 1000 บาท

- เรื่องทะเบียนรถ ติดต่อ กรมการขนส่งทางบก
- เรื่องปัญหาการเคลมประกัน ติดต่อ คปภ.
- เรื่องค่า Excess จาก 2000 เป็น 1000 คปภ.ทำเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้เอาประกัน
- เรื่องความคุ้มครอง พรบ.บุคคลที่ 3 จากครั้งละ 1 แสนเป็น 2 แสน แถมค่าชดเชยรายวันจากวันละ 100 เป็น 200 คปภ.ก็ทำเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้เอาประกัน
- เรื่องย้ายประกัน อย่างไรเสียข้อมูลทั้งหมดก็เชื่อมโยงถึงกันทุกบริษัท ไม่มี
ส่วนลด อาจจะได้เบี้ยราคาเท่าเดิม เพราะตอนโบรกเกอร์ขายให้คุณเขาลดให้ พอไปซื้อกับบริษัทโดยตรงไม่มีส่วนลด ก็เลยรู้สึกว่าแพงกว่า เท่านั้นเอง
- เรื่องการเคลมสดหรือเคลมรอบคัน คปภ.บังคับให้ ประสบเหตุแล้วรีบแจ้งให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันพวกมิจฉาชีพที่หากินด้านนี้ และเพื่อให้ผู้เอาประกันรับผิดชอบไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน




วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2556

ทำประกันภัย พ.ร.บ. เพื่่ออะไร ?


หลายคนสงสัยว่าทำไปทำไม ทำไปนี่ไม่เคยรุ้เลยจริงๆ เรามาดูกันเลยดีกว่าครับ

การทำประกันภัย พ.ร.บ. ตามพระราชบัญญัติมีประโยชน์อะไร คุ้มครองอะไรบ้าง?

     ให้ความคุ้มครองทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุอันเกิด จากรถ ได้รับความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและ ร่างกาย โดยให้ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามความเป็นจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ในกรณี บาดเจ็บ และได้รับค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ 15,000 บาท ในกรณีเสียชีวิต รวมแล้วไม่เกิน 80,000 บาท เพื่อเป็นการบรรเทา ความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยและครอบครัว 
     ง่ายๆก็คือคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัยจากรถที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชฃีวิตเพราะเหตุประสบภัยจากรถ โดยให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที กรณีบาดเจ็บ หรือช่วยเป็นค่าทำศพกรณีเสียชีวิต และ เป็นหลักประกันให้กับโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลว่าจะได้รับค่ารักษาพยาาบาล ในการรับรักษาผู้ประสบภัยจากรถ (เช่น ถูกรถชน ถ้ามัวแต่จะหาผู้รับผิดชอบผู้บาดเจ็บก็ตายกันพอดีหรือบางทีไปส่งโรงพยาบาลแต่เขาไม่รับเพราะเป็นใครก็ไม่รู้จะได้เงินหรือปล่าวก็กลัวแต่จะขาดทุนกับโรงพยาบาลทำให้รักษาผู้ป่วยไม่ทันท่วงที่ พ.ร.บ.นี้จึงออกมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ)

ผู้ได้รับความคุ้มครองจาก พรบ. นี้มีใครบ้าง
     ประชาชนทุกๆคนที่ได้รับอุบัติเหตุจากรถ ไม่ว่าจะอยู่บนรถหรือที่ไหนก็ตามไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสาร ผู้ขับขี่ หรือเดินอยู่ตามทางเดินเท้า  ทั้งนี้รวมไปถึงทายาทของผู้ประสบภัยจากรถกร๊ผู้ประสบภัยเสียชีวิตด้วย


ใครบ้างมีหน้าที่ต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.?

     เจ้าของรถหรือผู้มีสิทธิครอบครองรถตามสัญญาเช่าซื้อ

รถประเภทไหนบ้างที่ต้องทำประกันตาม พ.ร.บ.?

     รถทุกประเภทที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ เช่น รถสี่ล้อ,สามล้อเครื่อง, รถจักรยานยนต์,รถบรรทุก,รถโดยสาร หรือแม้แต่รถพ่วง ยกเว้นรถไฟ

อะไรบ้างที่ใช้ในการทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.?

     กรมธรรม์ พ.ร.บ. กับเครื่องหมายแสดงการประกันภัยตาม พ.ร.บ.

ในกรณีบริษัทประกันวินาศภัยปฎิเสธการรับทำ พ.ร.บ. จะได้รับ โทษอย่างไร?

     ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 50,000 - 250,000 บาท

การปลอมเครื่องหมายติดหรือแสดงเครื่องหมายปลอมมีโทษอย่างไร?

     มีความผิดทางอาญาต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาท

หลักฐานอะไรบ้างที่ต้องใช้ประกอบในกรณีขอเครื่องหมาย ใหม่ทดแทนของเดิมที่ชำรุดหรือเสียหาย?

     เครื่องหมายเดิม (ในกรณีหายจะต้องนำใบแจ้งความด้วย)
     สำเนาบัตรประชาชน
     ตารางกรมธรรม์ตัวจริงพร้อมสำเนา 1 ชุด

การฝ่าฝืนไม่ทำประกันภัยตาม พ.ร.บ. มีโทษอย่างไร?

     ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และผู้ที่นำรถไม่มีประกันภัย ตาม พ.ร.บ. มาใช้มีโทษปรับเช่นกัน โดยเฉพาะถ้าเป็นเจ้าของรถเอง ต้องโทษเป็น 2 กระทง

กองทุนทดแทนคืออะไร และมีหน้าที่อย่างไร? (บางคนถูกชนก็ไม่ยอมไปรับเงินเพราะไม่รู้ ตอนนี้ดอกเบี้ยนี่งอกจนเบิกบานแล้วครับ)

     กองทุนทดแทนมีหน้าที่หลักคือพิจารณาจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้ แก่ผู้ประสบภัย โดยผู้ประสบภัยต้องนำหลักฐานต่างๆ ไปยื่นคำร้องที่ กองทุนทดแทนจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นภายใน 7 วันในกรณีที่ผู้ ประสบภัยจากรถ ไม่สามารถเรียกร้องจากใครได้ ตัวอย่างเช่น ถูกรถที่ไม่มีประกันชนแล้วเจ้าของรถไม่จ่าย,อุบัติเหตุจากรถที่ถูก ชิงทรัพย์,ไม่มีผู้แสดงตนเป็นเจ้าของรถ,ชนแล้วหนี,หรือบริษัทประกัน ไม่จ่ายหรือจ่ายไม่ครบเป็นต้น

ขั้นตอนและหลักฐานอะไรที่ใช้ประกอบการยื่นคำร้องที่กองทุน ทดแทน?

     1. ไปขอรับค่าเสียหายจากบริษัทที่รับประกันภัยรถที่ทำประกันไว้ ก่อน ซึ่งจะต้องทำเนินการขอรับภายใน 180 วัน นับจากวันเกิดเหตุ
     2. ต้องกรอกแบบคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น กรณียื่นต่อบริษัท หรือที่เรียกว่า บต.3
     3. ใบเสร็จรับเงินของโรงพยาบาล
     4. สำเนาบัตรประชาชน
     5. สำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี
     6. ใบรับคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจาก บริษัทประกันภัย
     7. บัตรมรณะภาพ (ในกรณีเสียชีวิต)


องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย

เพื่อไม่ให้เสียเวลาเรามาดูกันเลยดีกว่าครับว่ามีองค์กรอะไรบ้างที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการประกันภัย


1. คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) (Office of insurance Commission ) หรือกรมการประกันภัยเดิม (โทร 1886)
     มีหน้าที่ กำกับ ควบคุม ดูแล คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านประกันภัย
มีจุดประสงค์เพื่อ ให้บริษัทประกันภัยมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับมาตรฐานสากล มีการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมจากประกันภัย ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของประกันภัยและสามารถเข้าถึงประกันภัยได้ง่าย และให้ความคุ้มครองบุคลากร(เจ้าหน้าที่ของบริษัทประกัน)ในการถูกฟ้องร้องโดยมีกฎหมายรองรับ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้สมัครสอบตัวแทนนายหน้าประกันชีวิต  (ที่นี่แหละครับพวกเหล่าบริษัทประกันชอบอ้างว่า้เป็นไปตามหลักกรมธรรม์ ต้องอย่างนี้ๆๆๆ ไม่พอใจให้ไปให้ไปถาม คปภ. หรือไปฟ้องร้องเอาเองเพราะเป็นคนออกกฎขึ้นมา ผมว่ามันเป็นช่องโหว่ของกรมธรรม์มากๆเลยที่ระบุคำพูดในกรมธรรม์ออกมาแล้วพวกบริษัทประกัน"เล่นคำ"ทำให้ผู้เอาประกัน"โกรธ"และ"เกลียด" ประกันไปเลย แต่มันก็ยากที่จะเก็บความเสี่ยงไว้เองโดยไม่ทำประกันก็เลยต้อง "เปลี่ยน" บริษัทอยู่ร่ำไป )

2.บริษัทประกันภัย (Insurance Company)
     พรบ. ประกันวินาศภัย 2535 และ พรบ. ประกันชีวิต 2535 ได้กำหนดว่าจะตั้งบริษัทประกันภัยได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในรูป บริษัทจำกัด หรือ บริษัท มหาชน จำกัด เท่านั้นและได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในด้านประกันภัยได้เท่านั้น  หน้าที่คงไม่ต้องบอกนะครับ - -a

3.บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) (Thai Reinsurance Public Co .,Ltd.)
     จัดตั้งโดยความร่วมมือของฝ่ายเอกชนและฝ่ายรัฐบาลเพื่อเป็นส่วนกลางของธุรกิจประกันภัยไทยและมีทุกบริษัทของบริษัทประกันภัยเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทนี้
     มีหน้าที่ ทำธุรกิจในด้านการประกันภัยต่อกับบริษัทผู้ประกอบกิจการประกันภัยด้วยกันเท่านั้น จะไม่มีการเสนอขายกรมธรรม์ให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันทั่วไป  รับประกันภัยต่อจากต่างประเทศ (รับประกันภัยต่อภาษาบ้านๆก็คือช่วยกันแชร์ความเสี่ยงเพื่อไม่ให้บริษัทล้มละลายนั่นเอง) อีกทั้งเป็นศูนย์การประมวลสถิติผลงานของธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย

4.สมาคมประกันวินาศภัย (Thai General Insurance Association)
     มีสมาชิกเป็นบริษัทประกันภัยที่จดทะเบียนในประเทศไทย 57 บริษัทและเป็นสาขาของบริษัทต่างประเทศอีก 5 บริษัท  วัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการประกอบวิสาหกิจเกี่ยวกับประกันภัย  เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในบริษัทแก้ไขข้อขัดข้องต่างๆ รวมทั้งเจรจาตกลงกับบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์ร่วมกัน  ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมกิจการประกันภัย  วางระเบียบให้สมาชิกปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติเกี่ยวกับประกันภัยเพื่อให้เป็นไปด้วยความเรี่ยบร้อย  สอดส่องความเคลื่อนไหวของกิจการประกันภัยทั้งภายในและนอกประเทศ เผยแพร่ความรู้ด้านประกันภัยให้ประชาชน

5.สถาบันประกันภัยไทย ( Thailand Insurance Institute )
     เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสมาคมประกันชีวิตและสมาคมประกันวินาศภัยและกรมการประกันภัย

     มีหน้าที่คือพัฒนาส่งเสริมความรู้และเผยแพร่ความรู้ด้านประกันภัยให้กับการประชาชนที่ใช้บริการประกันภัย

6.สมาคมประกันชีวิตไทย ( The Thai Life Assurance Association )
    เป็นศูนย์กลางในการประสานงาน ส่งเสริมกำดำเนินงาน ศึกษาค้นคว้าวิชาการ รวมถึงช่วยเหลือสนับสนุนสมาชิกในการดำเนินงานประกัน


7.สมาคมนายหน้าประกัน ( Insurance Brokers Association )
    เป็นการรวมตัวของผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นหน้าหน้าประกันชีวิตและวินาศภัย เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในการเจรจาแก้ไขปัญหา

8.สมาคมตัวแทนขายประกัน 

     เป็นการรวมตัวกันของตัวแทนประกันชีวิตและวินาศภัย เพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย

9.สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย (The Society of Actuaries of Thailand)
    กำหนด ส่งเสริมวิชาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยให้อยู่มาตรฐานสูง ทางด้านจริยธรรมทางวิชาชีพ ค้นคว้าวิจัยและเผยแพร่้เี่ยวกับความณู้ด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย  เช่นในด้าน เศรษฐศาสตร์ การเงิน การลงทุน สถิติ บำนาญ สวัสดิการพนักงาน เป็นต้น  ทำหน้าที่ประสานงานทั้งในและนอกประเทศ
และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง


10.สำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (The Insurance Premium Rating Bureau)
     ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลสถิติของการประกันวินาศภัย (Data Bank) และนำเสนอต้นทุนความเสียหายอ้างอิงของแต่ละประเภทภัยซึ่งมีเยอะมากๆ เพื่อความเป็นธรรมในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันแก่ทั้งสองฝ่าย

11.สำนักงานประกันสังคม ( ที่ถูกหักออกจากเงินเดือนของเรานั่นเอง) มีหน้าที่ดังนี้
     -  การรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกันตนกรณีต่าง ๆรวมถึงดูแลข้อพิพาทระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ประกันตนในเบื้องต้น
     - การจัดการและตรวจสอบกองทุนเงินทดแทนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเงื่อนไขของสำนักงานประกันสังคมเนื่องจากกองทุนทดแทนมีข้อบังคับที่ชัดเจนในเรื่องการบาดเจ็บจากการทำงานถึงจะทำการเบิกจ่ายได้
     - บริหารเงินของผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาลโดยพยายามให้ได้กำไรเสมอไม่ว่ามากหรือน้อยก็ตาม
     - รับการแจ้งเรื่องการขอเป็นผู้ประกันตนการลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน
     - รับการแจ้งเรื่องเบิกจ่ายเงินค่าทันตกรรมของผู้ประกันตน ซึ่งปัจจุบันเบิกได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 300 บาท
     - แจ้งข่าวสารให้บริษัทและผู้ประกันตนรับทราบรวมถึงการประสานงานที่ดีระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทอันเป็นตัวแทนผู้ประกันตน
     - สำรองจ่ายงบฉุกเฉินเท่าที่จำเป็นในกรณีที่มีการประสบอันตรายฉุกเฉินสามารถรักษาได้ในโรงพยาบาลเฉพาะที่รับบัตรประกันสังคมทั่วราชอาณาจักรไทย
     - ดูแลการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสำนักงานประกันสังคม อาทิเช่นกรณีคนไข้ต้องเข้าพักในโรงพยาบาล หรือต้องเคลื่อนย้ายคนไข้ด้วยรถพยาบาลรวมถึงให้การเบิกจ่ายเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส สุจริต เที่ยงธรรมและสามารถตรวจสอบได้
     - รับแจ้งเรื่องขอเงินสงเคราะห์บุตรของผู้ประกันตน และการเสียชีวิตของผู้ประกันตนรวมถึงตรวจสอบการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสำนักงานประกันสังคมอาทิเช่นการเสียชีวิตจากการทำงานหรือการเสียชีวิจจากเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน

กองทุนเงินทดแทน
 ค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายจากการทำงาน
 หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน
 ค่าทดแทนกรณีฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานภายหลังการประสบอันตราย
 ค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะหรือสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะบางส่วน
 ค่าทดแทนกรณีไม่สามารถทำงานได้ติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไป

12.บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด (โทร 02-100-9191)
     - ให้บริการเกี่ยวกับการรับคำร้องขอค่าเสียหายเบื้องต้นและการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือเงินต่างๆ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฉบับที่ 3 พ.ศ.2540 และดำเนินกิจการตามที่บริษัทหรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจะได้มอบหมาย 
     - ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยเฉพาะการประกันภัยรถตามพระราชบัญญัตินี้ตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
     - ดำเนินกิจการอื่นตามที่กำหนดในหนังสือบริคณห์สนธิ (เงื่อนไขในนการตั้งบริษัทจำกัดนั่นเอง)    
     - จัดสอบใบอนุญาตตัวแทนประกันวินาศภัย
     - ทำหน้าที่รับประกันภัยเฉพาะรถจักรยานยนต์เท่านั้น

รวบรวมมาได้เท่านี้แหละครับ ใครมีอะไรเพิ่มเติมก็ช่วยคอมเม้นต์บอกกันด้วยนะครับ :)




วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

การกำหนดมูลค่าประกันภัย

     ในการทำประกันภัยแต่ละครั้ง ตามกฎหมายไม่ได้ระบุว่าผู้เอาประกันภัยจะได้รับจำนวนเงินเอาประกันภัย(จำนวนวงเงินสูงสุดที่จะได้เมื่อเกิดเหตุ)มากน้อยเท่าใด แต่ว่าผู้เอาประกันภัยจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่เกินไปกว่าค่าเสียหายที่แท้จริงและต้องไม่เกินกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ได้ตกลงกันไว้และมีระบุในสัญญากรมธรรม์   แบ่งออกเป็น 3 แบบ

1. แบบชดใช้ตามวินาศภัยที่แท้จริง
     ก็คือเป็นการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันโดยคิดจากมูลค่าที่ซื้อสินค้าไปตอนใหม่ๆหักด้วยค่าเสื่อมราคาตามอายุการใช้งาน  เช่น ของที่ซื้อมา 5 ปีที่แล้วนำมาประกันภัยมันก็ต้องวงเงินถูกลง ก็เหมือนซื้อของมือสอง นั่นแหละเอาง่ายๆ

2. แบบชดใช้เป็นจำนวนเงินที่แน่นอน

     ผู้เอาประกันภัยเลือกกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ตนต้องการสำหรับวัตถุที่จะเอาประกันภัยแต่ละชิ้น  การกำหนดลักษณะแบบนี้มักจะใช้กับ  การประกันชีวิต , วัตถุที่เอาประกันภัยที่มีมูลค่าประเมินไม่ได้เช่น ภาพวาด ภาพเขียน ศิลปวัตถุ  , การประกันภัยทางทะเลหรือการขนส่งสินค้า

3. แบบมูลค่าทดแทน
     สำหรับทรัพย์สินหรือวัตถุที่จะเอาประกันบางอย่างจะไม่หักค่าเสื่อมราคาใดๆ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยได้รับประโยชน์สูงสุด  เพราะว่ามูลค่าทรัพย์สินจะเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นผู้เอาประกันภัยจะต้องมีการปรับทุนประกันภัยให้เท่ากับมูลค่าทดแทน เพราะหากไม่มีการปรับทุนประกันภัยจะทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย(under insurance) การกำหนดแบบนี้มักใช้กับ เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ที่มีมูลค่าสูงขึ้นทุกปี
 



วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556

การประกันชีวิต ( สิ่งที่ควรรู้ )

      สัญญาประกันชีวิต เป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยจะชดใช้เงินจำนวนหนึ่งที่แน่นอนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับผลประโยชน์ ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตหรือยังมีชีวิตอยู่จนถึงเวลาที่ตกลงกำหนดไว้

      การโอนสิทธิตามสัญญาประกันชีวิต เช่น พ่อทำประกันชีวิตไว้หากเสียชีวิตลูกจะได้เงิน แต่ถึงกระนั้นพ่อก็สามารถโอนสิทธิ์ผู้รับผลประโยชน์ไปให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ลูกได้อยู่  เว้นแต่พ่อได้โอนส่งมอบกรมธรรม์ไปให้ลูกแล้วและลูกได้บอกกล่าวหนังสือไปให้ผู้รับประกันภัยว่า ตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น  (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 891)

     การยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันชีวิต ก็คือบริษัทประกันไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยให้ได้เพราะเกิดจากเหตุเหล่านี้  เช่น
1. การกระทำอัตวินิบาตกรรม(ผู้ป่วยโรคจิตทางอารมณ์ คิดอยากฆ่าตัวตาย ขาดความคิด เสียสติ  เป็นต้น)ภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันทำสัญญา
2. ถูกผู้รับผลประโยชน์ฆ่าโดยเจตนา (กรณีนี้เมื่อเกิดเหตุบริษัทจะต้องชดใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น)
(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 895)
3. ไม่ตรงไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์


กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย

ว่าด้วยเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย
มี พ.ร.บ. (พระราชบัญญัติ)ที่ควรรู้จัก ดังนี้

- พระราชบัญญัติคุ้มครงผู้บริโภค   พ.ศ.2522
- พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย    พ.ศ.2535
- พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ    พ.ศ.2535

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861
    "อันว่า สัญญาประกันภัย คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้นหรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญาและบุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกัน"
(ภาษาดูยากๆนะครับภาษาทางกฎหมาย เอาง่ายๆก็คือผู้รับประกันภัยจะจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยเมื่อเกิดเหตุที่ตรงกับในสัญญากรมธรรม์ภัย และผู้เอาประกันภัยก็ต้องจ่ายเบี้ยประกันให้กับผู้รับประกันภัย)

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 869
     "วินาศภัย" หมายถึงความเสียหายใดๆ บรรดาจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย    พ.ศ.2535 ให้หมายความรวมถึงความเสียหายในสิทธิประโยชน์หรือรายได้ด้วย"
(คำว่า"วินาศภัย"ก็คือการประกันภัยทุกประเภทนอกเหนือจากชีวิตและสามารถประมาณค่าเป็นตัวเงินได้ เช่น รถชน ไฟไหม้ ก็จะรู้ค่าเสียหายได้ แต่ชีวิตเนี่ยมันไม่สามารถตีเป็นมูลค่าในรูปตัวเงินได้ ถูกไหมครับ)


กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย
1. การโอนเปลี่ยนมือวัตถุประกันภัย   ขอตัวอย่างง่ายๆเลยนะครับ สมมติเรามีรถที่ทำประกันภัยอยู่แล้วเราก็เอารถไปขายต่อให้ผู้อื่น ถ้าเราไปแจ้งกับฝ่ายประกันว่าเราโอนสิทธิในตัวรถไปให้ผู้อื่นแล้วทางบริษัทประกันก็จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับคนที่เราโอนไปให้และสัญญายังคงอยู่แต่ตัวสัญญาจะย้ายไปอยู่กับอีกคนที่เ้ราขาย ถ้าเราไม่ไปแจ้งสัญญาก็จะเป็นโมฆะทันที ในทำนองเดียวกันหากเราไปแจ้งฝ่ายประกันเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าภัยนั้นมีความเสี่ยงสูงที่เพิ่มขึ้นก็สามารถโมฆะได้เหมือนกัน  เช่นเราขับก๋วยเตี๋ยว แต่เราขายให้นักแข่งมอเตอร์ไซต์ เป็นต้น (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 875)

2. การสิ้นผลบังคับของสัญญาประกันภัย  แบ่งออกเป็น 3 แบบนะครับ
       2.1 การสิ้นผลตามกฎหมาย
      โมฆะ    หมายถึง ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายนั่นเอง
      โมฆียะ  หมายถึง เช่นเราปกปิดความจริงเกี่ยวกับของที่เราจะเอาประกันภัยในตอนทำสัญญา สมมติ   ว่าเขาถามว่าตัวโกดังทำจากอะไร เราบอกคอนกรีต  แต่จริงๆแล้วโกดังเป็นไม้แต่ใช้วัสดุด้านนอกแต่งด้วยสีคอนกรีต แบนนี้ก็คือปกปิดข้อความจริงและแถลงความเท็จ ทำให้สัญญาไม่มีผล บางทีผู้รับประกันภัยบางรายก็อาจจะกินเบี้ยประกันภัยไปเรื่อยๆ แต่พอเกิดเหตุขึ้นก็นำมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่จ่ายค่าสินไหมให้ เพราะว่าเราไม่ยอมเปิดเผยความจริงแต่แรกนั่นเอง

       2.2 การสิ้นผลตามเงื่อนไขของสัญญาประกันภัย 
       หมายถึง "วันเวลา" ที่กำหนดให้สิ้นสุดในสัญญาประกันภัยนั่นเอง

       2.3 การสิ้นผลโดยการบอกเลิกสัญญา
       บอกเลิกโดยผู้เอาประกันภัย ก็คือเราเดินเข้าไปบอกเลิกกับบริษัทเป็นลายลักษณ์อักษรและบริษัทจะหักเบี้ยประกันภัยในส่วนที่คุ้มครองไปแล้ว และจะคืนเงินให้ในส่วนที่เรายังไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่ต้องเป็นแบบอัตราเบี้ยประกันภัยระยะสั้นเท่าันั้น (รับประกันภัยไม่เต็มปี )
       บอกเลิกโดยผู้รับประกันภัย  อันนี้ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือมาถึงเราไม่น้อยกว่า 15 วันทางไปรษณีย์ และบริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยหักออกตามอัตราส่วนเฉลี่ยรายวัน (Pro rata) ของระยะเวลาที่กรมธรรม์คุ้มครองไปแล้ว

3. การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลที่สาม  ต้องเป็นเหตุจากวินาศภัยเท่านั้น และเราเป็นฝ่ายผิด เช่น  เราไปขับรถไปชนคนอื่น ประกันจะจ่ายเงินให้คนนั้นไปก่อน แล้วมาเก็บจากเราทีหลัง

4. การยกเว้นความผิดของผู้รับประกันภัย  (เมื่อเกิดความเสียหายตามประกันวินาศภัย)
     4.1 โดยผลของสัญญา  เช่น  มีข้อยกเว้นในสัญญาที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ที่ชัดเจน (สามารถซื้อเพิ่มได้)
     4.2 โดยผลของกฎหมาย   ถึงแม้จะไม่มีในสัญญากรมธรรม์ก็ตามแต่มีบางข้อที่เป็นกฎหมาย  เช่น  การใช้รถไปปล้นทรัพย์ผู้อื่นแล้วเกิดชน  ความประมาทเลินเล่อจนเกิดเหตุร้ายแรง  เหตุไม่สมประกอบในเนื้อวัตถุ (เช่นเนื้อหมู ขนมปัง  ตามกาลเวลามันก็ต้องเน่าเปื่อยใครจะไปรับประกันฟะ - -" ) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879

5. อายุความ  เกี่่ยวของกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนและค่าเบี้ยประกันภัย ก็คือสามารถเรียกร้องต่อกันได้กรณีเบี้ยวภายในระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันเกิดวินาศภัยรวมถึงการฟ้องคดีด้วยนะครับจบแล้วจ้า หวังว่าทุกท่านคงจะได้รับความรู้กลับไปไม่มากก็น้อยนะครับ 
เขียนผิดพลาดประการใดก็บอกกล่าวกันด้วยนะครับแบบว่ายังไม่เก่งสักเท่าไหร่ :)

วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

ประกันภัย มีกี่รูปแบบ ?


รูปแบบการประกันภัย แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ

1. การประกันชีวิต คือ การประกันกับความสูญเสียหรือเสียหายอันจะเกิดแก่บุคคล หรือ กลุ่มบุคคล โดยจะชดเชยเมื่อมีการเสียชีวิต
 และอาจมีความคุ้มครองอื่น ๆ เพิ่มเติมเช่น
- การประกันอุบัติเหตุและสูญเสียอวัยวะ
- การประกันสุขภาพ
- การประกันกรณีทุพพลภาพ

2.การประกันวินาศภัย
การประกันวินาศภัย คือ การประกันภัยทุกประเภทนอกเหนือจากชีวิต
ถูกแบ่งออกเป็นสี่ประเภท
- การประกันอัคคีภัย
- การประกันภัยรถยนต์
- การประกันภัยทางทะเล
- การประกันเบ็ดเตล็ด

ทั้งนี้ประกันภัยมีข้อยกเว้นอยู่หลายประการผู้กำลังจะคิดทำประกันควรอ่านรายละเอียดกรมธรรม์ให้ถี่ถ้วนทุกประการทุกครั้งก่อนทำประกัน หรือ สามารถซื้อเพิ่มเติมแต่เบี้ยประกันก็จะแพงขึ้นตามความเสี่ยง


ประกันภัย คืออะไรกันแน่ ?



การประกันภัย คือ วิธีจัดการความเสี่ยงในรูปแบบหนึ่งโดยโอนความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัย เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกับสิ่งที่ได้ทำประกันภัยไว้ตามสัญญาในกรมธรรม์ บริษัทประกันภัยจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามที่ได้รับความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันภัยตามที่ได้ตกลงกันไว้
มาถึงจุดนี้ผมว่าต้องมีบางคนงงและไม่เข้าใจกับศัพท์บางคำแน่ ๆ ขออธิบายภาษาบ้านๆ ง่ายๆนะครับ
- ผู้รับประกันภัย (Insurer)               บริษัทที่เราทำประกันด้วย
- ผู้เอาประกันภัย (Insured)              ตัวเราเองที่ทำประกันและเป็นผู้ถือกรมธรรม์
- ผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary)    บุคคลที่ระบุในสัญญากรมธรรม์ว่าจะได้รับผลประโยชน์อะไรบ้าง
- ค่าสิืนไหมทดแทน (Indemnity)    เงินที่จะได้รับเมื่อเกิดความเสียหายที่ตรงตามสัญญากรมธรรม์
- เบี้ยประกันภัย (Premium)           เงินที่เราจ่ายทุกๆเดือนเพื่อทำประกัน
โดยผู้พิจารณารับประกันภัย (Underwriting) จะประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าของ บุคคล, กลุ่มบุคคล หรือ ทรัพทย์สิน นั้น ๆ พร้อมกำหนด รายละเอียดความคุ้มครอง และค่าเบี้ยประกัน ผู้รับประกันอาจรับประกัน โดยแบ่งความเสี่ยงมาส่วนหนึ่งหรือรับความเสี่ยงทั้งหมดก็ได้ หากความเสี่ยงนั้นสูง ผู้รับประกันอาจจะรับประกันแต่จะเพิ่มอัตราเบี้ยพิเศษ เพื่อให้สามารถครอบคลุมความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
การทำประกัน เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งคู่สัญญาต่างมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบต่อกัน -   
- ผู้รับประกันจะต้องคุ้มครองผู้เอาประกันตามรายละเอียดในสัญญาเมื่อมีความสูญเสีย เสียหายเกิดขึ้น โดยชดเชยตามรายละเอียดความคุ้มครอง 
- ผู้เอาประกันก็มีหน้าที่ชำระเบี้ยประกันตามที่ระบุในสัญญาเพื่อให้ความคุ้มครองเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
การทำประกันจุดประสงค์แท้จริงเพื่อแบ่งเบาความเสี่ยง จากบุคคล, กลุ่มบุคคล หรือ ทรัพย์สินนั้น ๆ ออกเป็นส่วนโดยร่วมกันชดเชยเมื่อมีความสูญเสีย เสียหายเกิดขึ้น โดยยึดหลักสุจริตเป็นสำคัญ และการทำประกันมิใช่สัญญาเพื่อค้ากำไร