วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2563

ประกันสังคม สิทธิที่เราควรต้องรู้ ปี พ.ศ. 2563

สิทธิประกันสังคม สิทธิประโยชน์ที่คนทำงานควรรู้และต้องได้รับ!


สิทธิประกันสังคม

อัพเดตวันที่ 26 มีนาคม 2563 กระทรวงแรงงานออกมาตรการปรับลดขยายเวลานำส่งเงินสมทบประกันสังคม พร้อมจ่ายว่างงานช่วยเหลือสถานการณ์โควิด – 19 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างและลูกจ้าง โดยจะออกประกาศและกฎกระทรวงแรงงาน เพื่อบังคับใช้ให้เร็วที่สุดต่อไป

เลือกอ่านได้เลย!


มาตรการเพื่อผู้ประกันตน จากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19


ลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม

  • นายจ้าง เหลืออัตราร้อยละ 4 ระยะเวลา 3 เดือน (มี.ค. – พ.ค. 63)
  • ผู้ประกันตน มาตรา 33 เหลืออัตราร้อยละ 1 ระยะเวลา 3 เดือน (มี.ค. – พ.ค. 63)
  • ผู้ประกันตน มาตรา 39 เหลืออัตราร้อยละ 1.8 ระยะเวลา 3 เดือน (มี.ค. – พ.ค. 63)
  •  

ขยายเวลาส่งเงินสมทบ นายจ้าง และ ผู้ประกันตนมาตรา 33, 39

งวดค่าจ้างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ออกไปอีก 3 เดือน
  • ค่าจ้างเดือนมีนาคม 2563 ให้นำส่งภายใน 15 กรกฎาคม 2563
  • ค่าจ้างเดือนเมษายน 2563 ให้นำส่งภายใน 15 สิงหาคม 2563
  • ค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2563 ให้นำส่งภายใน 15 กันยายน 2563


เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563

  • กรณีว่างงานจากนายจ้างไม่ให้ทำงาน ถูกกักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดไวรัส Covid-19 รับเงินร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 180 วัน
  • กรณีว่างงาน เพราะหน่วยงานภาครัฐสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว รับเงินร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 60 วัน

เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงาน

  • ผู้ประกันตนลาออก รับเงินกรณีว่างงานร้อยละ 45 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน (บังคับใช้ 2 ปี)
  • ผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง รับเงินกรณีว่างงานร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 200 วัน (บังคับใช้ 2 ปี)

วิธีการขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงาน 

  • กรณีว่างงาน (สำหรับลูกจ้าง / ผู้ประกันตน)
  • กรณีชราภาพ (สำหรับลูกจ้าง / ผู้ประกันตน)
  • กรณีนายจ้างรับรองกรหยุดงานของลูกค้า อันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย (สำหรับนายจ้าง)

1. ให้นายจ้างกรอกแบบเพื่อยืนยันรับรองการปิดกิจการชั่วคราวจากเหตุสุดวิสัยที่ https://www.sso.go.th/eform_news/
2. ลูกจ้างเข้าไปกรอกแบบฟอร์มขอรับประโยชน์ทดแทนที่เว็บไซต์ https://www.sso.go.th/eform_news/
3. ลูกจ้างลงทะเบียนว่างงานที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน https://empui.doe.go.th/auth/index ระบบจะกำหนดให้คุณต้องกลับมารายงานตัวว่าได้งาน หรือยังไม่ได้งาน ภายในวันที่กำหนด

สิทธิประกันสังคม Covid-19

แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ระบบประกันสังคม

ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 เช่น ธุรกิจถูกปิดชั่วคราว ถูกเลิกจ้าง สั่งพักงาน ลดเวลาทำงาน รายได้ลดลง ฯลฯ (ไม่รวมผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้รับประโยชน์ทดแทนจากสำนักงานประกันสังคมแล้ว) ได้รับสิทธิเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน
  1. ลงทะเบียนขอรับสิทธิที่เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เปิดลงทะเบียนวันที่ 28 มีนาคม 2563 เวลา 18.00 น.
  2. ช่องทางการรับเงินคือ บัญชีพร้อมเพย์ หรือบัญชีออมทรัพย์ ใช้ระยะเวลาประมาณ 5-7 วัน 


ทำความเข้าใจสิทธิประกันสังคม

สิทธิประกันสังคม เป็นกองทุนที่ให้หลักประกันแก่ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ได้รับประโยชน์ทดแทน เมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย ซึ่งไม่เกิดจากการทำงาน รวมทั้งกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน


ไม่อยากอ่าน คลิกฟังเลย




ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคม


หลักๆ มีอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

  1. ผู้ประกันตน
  2. นายจ้าง
  3. รัฐบาล


ผู้ประกันตน


ผู้ประกันตน คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ แต่ถ้าลูกจ้างอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แต่นายจ้างยังจ้างให้ทำงานต่อให้ถือเป็นผู้ประกันตนต่อไป โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
  1. กลุ่มที่ทำงานประจำ ต้องจ่ายเงินสมทบตามกฏหมาย
  2. กลุ่มที่เคยทำงานประจำ แต่ลาออกและไม่ได้สมัครงานประจำต่อ ซึ่งเคยจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือนตอนที่ยังทำงานประจำอยู่ และลาออกจากงานประจำไม่เกิน 6 เดือนเมื่อลาออกแล้วยังสมัครใจที่จะจ่ายเงินสมทบอยู่
  3. รวมไปถึงกลุ่มที่ไม่ได้ทำงานประจำ (ฟรีแลนซ์) อายุ 15-60 ปี เลือกจ่ายเงินสมทบเองเพื่อให้ได้ สิทธิ์ประกันสังคม


นายจ้าง


นายจ้าง คือ ผู้ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป เป็นผู้มีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างพร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างภายใน 30 วัน และเมื่อมีการจ้างลูกจ้างใหม่ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายใน 30 วันเช่นกัน


เงินสมทบ


เงินสมทบ คือ เงินที่นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องนำส่งกองทุนประกันสังคมทุกเดือน ซึ่งในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนกลุ่มที่ 1 กลุ่มทำงานประจำเท่านั้น ส่วนกลุ่มอื่นๆจะกล่าวถึงในบทความต่อๆไป


กลุ่มผู้ประกันตนกลุ่มนี้จะคำนวณเงินสมทบจากค่าจ้างลูกจ้าง ซึ่งกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท ซึ่งรัฐบาลจะร่วมสมทบด้วยส่วนหนึ่ง โดยลูกจ้างจะถูกนายจ้างหักเงินเดือนในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้าง นายจ้างจะร่วมจ่ายสมทบด้วยในอัตราที่เท่ากัน คือร้อยละ 5 และรัฐบาลร่วมจ่ายสมทบด้วยในอัตราร้อยละ 2.75



 

ตารางแสดงอัตราการหักเงินสมทบกองทุนประกันสังคม





อัตราเงินสมทบ




สิทธิประกันสังคม ที่ผู้ประกันตนจะได้รับมีอะไรบ้าง


สำหรับสิทธิประกันสังคม ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันแล้วแต่กรณี ในที่นี้จะขอพูดถึงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมก่อนนะ

สิทธิประกันสังคม เจ็บป่วย

กรณีเจ็บป่วย


เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ : ต้องจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน


สิทธิประโยชน์
สามารถสรุปการบริการทางการแพทย์ได้ตามแผนภาพดังนี้
สิทธิประกันสังคม แผนภาพบริการทางการแพทย์


ในกรณีเจ็บป่วยสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในกรณีที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอื่นโดยที่ได้สำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน สามารถเบิกคืนจากสำนักงานประกันสังคมในอัตราที่กำหนดดังนี้
  • เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ การรักษาทั้งอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย สามารถเข้ารับการรักษาได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ในกรณีเป็นผู้ป่วยนอก เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น และในกรณีเป็นผู้ป่วยใน เบิกได้ตามที่จ่ายจริง ยกเว้น ค่าห้องและค่าอาหาร เบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท
  • เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของเอกชน กรณีผู้ป่วยนอกเบิกค่ารักษาได้ไม่เกิน 1,000 บาท กรณีผู้ป่วยใน ค่ารักษาพยาบาลกรณีไม่ได้รักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท ค่าห้องค่าอาหารไม่เกินวันละ 700 บาท ค่าห้องกรณีรักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 4,500 บาท กรณีต้องผ่าตัดใหญ่เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 8,000 – 16,000 บาทตามระยะเวลาการผ่าตัด
  • กรณีทันตกรรม เข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม (ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลได้จาก สำนักงานประกันสังคม ) สามารถรับค่าบริการทางการแพทย์ได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 900 บาทต่อปี

สิทธิประกันสังคม คลอดบุตร

กรณีคลอดบุตร


เงื่อนไขการใช้สิทธิ : ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 15 เดือน


สิทธิประโยชน์
  • สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 13,000 บาทต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)
  • ผู้ประกันตนหญิงได้รับเงินสงเคราะห์จากการลาคลอดเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 90 วัน (ใช้สิทธิได้เฉพาะบุตรคนที่ 1 และ 2 เท่านั้น)
  • กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ สามารถเลือกใช้สิทธิได้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สิทธิประกันสังคม ทุพพลภาพ

กรณีทุพพลภาพ


เงื่อนไขการใช้สิทธิ : ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน


สิทธิประโยชน์
  • รับเงินทดแทนขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดชีวิตในกรณีทุพพลภาพร้ายแรง หากไม่ร้ายแรงจะได้รับตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาตามที่ประกาศฯกำหนด
  • รับค่าบริการทางการแพทย์ หากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้เท่าที่จ่ายจริงตามจำเป็นและสมควร หากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ในกรณีเป็นผู้ป่วยนอก กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้เดือนละไม่เกิน 2,000 บาท ในกรณีเป็นผู้ป่วยใน กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้เดือนละไม่เกิน 4,000 บาท ในส่วนของค่ารถและค่าบริการทางการแพท์ย์ จะได้รับการเหมาจ่ายไม่เกินเดือนละ 500 บาท
  • ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเมื่อมีมติให้เป็นผู้ทุพพลภาพ
  • หากผู้ทุพพลภาพเสียชีวิต ผู้จัดการศพมีสิทธิได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท
  • ได้รับเงินสงเคราะห์เสียชีวิต หากผู้ทุพพลภาพจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 3 ปีแต่ไม่ถึง 10 ปีจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน แต่หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 6 เดือน

สิทธิประกันสังคม เสียชีวิต

กรณีเสียชีวิต


เงื่อนไขการใช้สิทธิ : สาเหตุการเสียชีวิตต้องไม่เกิดจากการทำงาน และจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน


สิทธิประโยชน์
  • ผู้จัดการศพสามารถขอค่าทำศพได้ 40,000 บาท
  • เงินสงเคราะห์ กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้บุคคลที่มีชื่อระบุอยู่ในหนังสือระบุให้เป็นผู้รับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต หากไม่มีหนังสือระบุไว้ต้องนำมาเฉลี่ยให้ บิดามารดา หรือ สามีหรือภรรยา หรือบุตร ในจำนวนที่เท่ากัน ซึ่งจะได้เงินสงเคราะห์ดังนี้ หากผู้เสียชีวิตจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือนจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน หากผู้เสียชีวิตจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ไม่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้เงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 6 เดือน
  • ทายาทสามารถขอรับคืนเงินกรณีชราภาพได้ภายใน 2 ปี (ดูรายละเอียดที่กรณีชราภาพ)

สิทธิประกันสังคม สงเคราะห์บุตร

กรณีสงเคราะห์บุตร


เงื่อนไขการใช้สิทธิ : จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรม หรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น


สิทธิประโยชน์
  • ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาท ตั้งแต่บุตรอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์
  • สามารถขอใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 3 คน

สิทธิประกันสังคม ชราภาพ

กรณีชราภาพ


แยกเป็น 2 กรณีดังนี้


กรณีบำนาญชราภาพ
เงื่อนไขการใช้สิทธิ
  • ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (ไม่ต้องจ่าย 180 เดือนติดต่อกัน)
  • มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

สิทธิประโยชน์
  • ถ้าจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
  • ถ้าจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนจะได้รับการปรับเพิ่มบำนาญชราภาพอีกร้อยละ 1.5 สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนทุกๆ 12 เดือนที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนนั้น

กรณีบำเหน็จชราภาพ
เงื่อนไขการใช้สิทธิ
  • จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
  • มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย
  • ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

สิทธิประโยชน์
  • ถ้าจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ
  • ถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
  • กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือนนับตั้งแต่ได้สิทธิบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต

สิทธิประกันสังคม ว่างงาน

กรณีว่างงาน


เงื่อนไขการใช้ สิทธิประกันสังคม
  • จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน
  • มีระยะเวลาว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
  • ผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานผ่าน เว็บไซต์ กรมการจัดหางาน ของรัฐภายใน 30 วันนับแต่วันที่ลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้าง
  • รายงานตัวเป็นผู้ว่างงานผ่าน เว็บไซต์ กรมการจัดหางาน ของรัฐ ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
  • เป็นผู้มีความสามารถในการทำงานและพร้อมจะทำงานตามที่สำนักงานจัดหางานของรัฐจัดหาให้
  • ไม่ปฏิเสธที่จะฝึกงาน
  • จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน
  • ต้องไม่ถูกเลิกจ้างในกรณี ทุจริตต่อหน้าที่ หรือ จงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือทำผิดกฎหมายกรณีร้ายแรง หรือ ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร หรือ ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา และไม่ใช่ผู้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ


สิทธิประโยชน์
  • ในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วันในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
  • ในกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามระยะเวลา จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานปีละไม่เกิน 90 วันในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ยซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
  • กรณีที่ว่างงานเพราะถูกเลิกจ้างมากกว่า 1 ครั้งใน 1 ปีจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้งรวมกันไม่เกิน 180 วัน
  • กรณีว่างงานเพราะลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างมากกว่า 1 ครั้งใน 1 ปีจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน