ประกันอัคคีภัยคือประกันวินาศภัยประเภทหนึ่ง ที่มีีความคุ้มครองในสิ่งปลูกสร้าง โดยจะคุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า และการระเบิดของแก๊สที่ใช้ประโยชน์ เพื่อการอยู่อาศัย หรือสำหรับทำแสงสว่าง นอกจากนี้ยังคุ้มครองทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากความร้อน หรือควันอันเป็นผลมาจากเพลิงไหม้ ความเสียหายเนื่องจากน้ำหรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในการดับเพลิง รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ดับเพลิงของเจ้าหน้าที่ เช่น การทำลายบ้านข้างเคียงเพื่อป้องกันมิให้ไฟลุกลามออกไปอีกด้วย
ทรัพย์สินอะไรบ้างที่สามารถเอาประกันภัยได้
ส่วนใหญ่แล้วเมื่อพูดถึงประกันอัคคีภัย เรามักจะนึกถึงการประกันภัยสำหรับบ้านและสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น ที่จริงแล้วทรัพย์สินที่สามารถทำประกันอัคคีภัยได้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน
1. สิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมรากฐาน) หมายถึง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด สำหรับอยู่อาศัย โรงรถและอาคารย่อย เช่น เรือนคนใช้ เรือนครัว กำแพง รั้ว ประตู รวมทั้งส่วนปรับปรุงต่อเติม ห้องชุดสำหรับอยู่อาศัยในแฟลต อาคารชุด คอนโดมิเนียม
2. ทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้าง หมายถึง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องดนตรี เครื่องเสียง เครื่องครัว เครื่องนุ่งห่ม และทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อการอยู่อาศัยของผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลซึ่งตามปกติพักอาศัยอยู่กับผู้เอาประกันภัย
เมื่อทำประกันอัคคีภัยจะได้รับความคุ้มครองอะไรบ้าง
ในการทำประกันอัคคีภัยบ้านอยู่อาศัยนั้นผู้เอาประกันจะได้รับความความคุ้มครองพื้นฐานดังต่อไปนี้
ไฟไหม้
ฟ้าผ่า (รวมถึงความเสียหายต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกิดจากการลัดวงจรจากฟ้าผ่า)
ระเบิด
ภัยยานพาหนะ หรือช้าง ม้า วัว ควาย ยกเว้นความเสียหายนั้นเกิดจากยานพาหนะ หรือ ช้าง ม้า วัว ควาย ของผู้เอาประกันภัย สมาชิกในครอบครัวซึ่งอยู่ด้วยกันกับผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลใดที่กระทำการในลักษณะที่จ้างหรือถูกใช้วานโดยผู้เอาประกันภัย
ภัยอากาศยาน หรือวัตถุที่ตกจากอากาศยาน เว้นแต่ความเสียหายอันเกิดจากอากาศยานที่ผู้เอาประกันภัยได้อนุญาตให้ลงในพื้นที่ซึ่งตนมีสิทธิให้ลงได้ คำว่า อากาศยาน ดังกล่าว ให้หมายความรวมถึง จรวด ซึ่งขับเคลื่อนด้วยตัวเองและยานอวกาศ
ภัยเนื่องจากน้ำ อันเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุจากการปล่อย การรั่วไหล หรือการล้นออกมาของน้ำ หรือไอน้ำจากท่อน้ำถังน้ำ ระบบทำความร้อน เครื่องสูบน้ำ ท่อดับเพลิงประจำบ้าน ระบบทำความเย็น ระบบปรับอากาศ น้ำฝนที่ไหลผ่านเข้าไปภายในสิ่งปลูกสร้างจากการชำรุดของหลังคาบ้าน หน้าต่าง ประตูวงกบ ประตู หน้าต่าง ช่องลม ช่องรับแสงสว่าง ท่อน้ำหรือรางน้ำ
นอกจากความคุ้มครองพื้นฐานแล้ว ผู้ซื้อกรมธรรม์ยังอาจซื้อความคุ้มครองอื่นๆ เช่น ภัยน้ำท่วม ภัยลมพายุ ภัยแผ่นดินไหว ฯลฯ เพิ่มเติม เพื่อเป็นหลักประกันที่อุ่นใจยิ่งขึ้น
ระยะเวลาความคุ้มครอง
เนื่องจากค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยสำหรับบ้านอยู่อาศัยมีราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับการประกันภัยประเภทอื่น และได้รับความคุ้มครองในขอบเขตที่กว้างขวาง ปัจจุบันจึงมีผู้ให้ความสนใจในการทำประกันอัคคีภัยบ้านอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นหากเลือกซื้อความคุ้มครองเป็นระยะเวลานาน เบี้ยประกันจะมีราคาถูกมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากอัตราเบี้ยประกันต่อไปนี้
1 ปี คิดเบี้ยประกันภัย 100%
2 ปี คิดเบี้ยประกันภัย 175%
3 ปี คิดเบี้ยประกันภัย 250%
ทำไมธนาคารต้องบังคับให้ทำตอนขอสินเชื่อบ้าน?
- ในกรณีที่กู้เงินซื้อบ้านขอสินเชื่อนั้นทางธนาคารจะพยายามพูดหว่านล้อมเราเต็มที่
มีคนบอกว่าถ้าอยากให้อนุมัติผ่านก็ต้องซื้อพ่วงไปเลย แต่จริงๆแล้ว "ไม่จำเป็นต้องซื้อครับ"
ทางธนาคารไม่มีนโยบายในการบังคับแบบนี้ ซึ่งเป็นเพียงเพิ่มความคุ้มครองให้กับผู้กู้เท่านั้นครับ
แต่อนุมัติผ่านหรือไม่ผ่านอันนี้อยู่ที่ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เท่านั้นครับว่าน่าเชื่อถือหรือ ไม่ อย่างไร?
ในปัจจุบันคนไทยมีความรู้ในเรื่องประกันภัยกันน้อยมาก เพราะคิดว่าเสียเงินโดยสูญเปล่าและคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำ อีกทั้งยังมีความรู้สึกในแง่ลบต่อธุรกิจประกันภัย แต่หากเราลองศึกษาการประกันภัยจริงๆ ก็จะพบว่าเป็นการลงทุนที่น่าสนใจอีกช่องทางหนึ่งและเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในวันที่คุณไม่คาดคิดมาถึง ดังนั้นเราต้องศึกษาให้ดีทั้งในเรื่องตัวแทน บริษัท ประวัติ ภัย ค่าสินไหม ระยะเวลา และอีกหลายอย่างเป็นต้น เพื่อผลประโยชน์ของตัวเราเองและคนที่คุณรัก